จุดรับส่งที่ดีต้องทำเพื่อทุกคน (ตอน 1)

[แบบที่ผมร่างออกมาในเบื้องต้น]
ผมได้รับข่าว สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร มีโครงการจะทำจุดจอดรับ-ส่งใต้สถานีบีทีเอส โดยใช้ชื่อ ‘จุดรับส่งคนพิการ’
โครงการนี้ผมได้รับข้อมูลมานานหลายปีแล้ว และได้ยินมาเนืองๆ ว่า สจส จะเสนอทำโครงการนี้
ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมได้เข้าไปร่วมประชุมกับท่าน ผอ สจส และทีมงาน ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในเรื่องผมได้ให้คำแนะนำไว้อย่างคร่าวๆ เพิ่งมาเห็นข่าวอีกทีว่าจะสร้าง ทำเอาผมตกใจ

เหตุที่ตกใจ มีหลายๆ เรื่องที่ผมได้แนะนำไว้ โดยเฉพาะเครื่องหมาย ‘รถเข็นบนพื้น’ ที่ผมขอให้เอาออก แต่ภาพที่ได้ตามข่าวยังคงอยู่
เรื่องนี้เราได้หารือกันในภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) มาแล้วและมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ ไม่ต้องมีเครื่องหมายรถเข็นบนพื้นครับ

หลายๆ ท่านอาจจะคิดในใจว่า ‘อ่าว ก็ดีแล้วไง คุณจะได้สะดวก ทำไมเอาล่ะ?’
ครับดีครับ ขอบคุณในความกรุณามากๆ ครับ แต่… มันดีเกินไป…
‘อ่าว เอ้! แล้วเอายังไงกันคู้นนนน… ดีไปไม่เอาอีก!!!’ ผมคิดว่าหลายๆ ท่านคงคิดแบบนี้ …​

เอาล่ะ ผมขอเล่าให้ฟังเอาให้ชัดๆ ครับ

ถูกต้องแล้วครับที่คนพิการ, คนที่มีร่างกายที่ด้อยศักยภาพกว่า ต้องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ เพราะเราได้มีชีวิตที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น อิสระขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำให้น้อยลง แต่ต้องบอกว่า ‘มีเพียงบางอย่างเท่านั้น’ ที่เราต้องกันไว้ใช้เฉพาะ เช่น ห้องน้ำและที่จอดรถ ในส่วนอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องที่ควรใช้ร่วมกันได้ตามความเหมาะสม…

ตรงนี้เป็นจุดที่ผมเป็นห่วงเอามากๆ ห่วงที่สังคมกำลังเข้าใจผิด แม้แต่คนพิการบางท่านเองก็อาจจะเข้าใจแบบนี้ด้วยเช่นกัน แต่เราต้องทำความเข้าใจกันใหม่ครับว่า ‘สิ่งต่างๆ หากเป็นไปได้ เราควรสามารถใช้ร่วมกันได้’ ครับ เราต้องระลึกเสมอว่าเรามีโลก, เรามีสังคมอยู่ที่พวกเราทุกคนอยู่ด้วยกัน และเราก็มีชีวิต, ใช้ชีวิตร่วมกัน มีความสุขและทุกข์ด้วยกัน

สำหรับคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงสิทธิมนุษยชนแล้ว จะรู้จักคำๆ นี้ดีครับ ผมกำลังหมายถึง ‘Inclusive Society’ นั่นเอง

ครับ ไม่มีใครต้องการให้ดู ‘แปลกแยก’ คนพิการเองก็เช่นกัน ผมพูดเสมอๆ ครับว่า ผมก็เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อน เป็นแฟน พวกเราทุกคนล้วนเป็นคนเหมือนกัน และหนึ่งเรื่องที่ทุกคนต้องไม่ลืมครับ คนที่มีร่างกายแข็งแรงในวันนี้ แต่ ‘พรุ่งนี้ ไม่แน่…’ จริงไหมครับ? มันวนไป วนมา กลุ่มคนโยกไปย้ายมาได้ตลอดเวลาเป็นอย่างนี้แหละ นี่เป็นที่มาครับ เพราะฉะนั้นคำตอบคือ เราต้องอยู่ร่วมกัน ทุกอย่างต้องใช้ร่วมกัน รวมถึงจุดจอดรับ/ส่งนี้ ก็เช่นกัน คนทุกคนต้องสามารถใช้ได้ครับ
พอผมเห็นโครงการนี้ผมเลยหารือกับภาคีหลายๆ ส่วน เพื่อรับความคิดเห็นเข้ามา ผมค่อยๆ เริ่มร่างแบบเพื่อให้มองภาพได้ชัดเจนขึ้นครับ

ผมลองร่างแบบออกมาใหม่ ผมเรียกใหม่ว่า ‘จุดรับส่งเพื่อทุกคน’ โดยมีรายละเอียดตามนี่ครับ:
1. เอาเครื่องหมายรถเข็นบนพื้นออก / ทุกคนใช้ร่วมกันได้
2. ทางเท้า ควรมีความกว้างที่เหมาะสมให้ทุกคนสัญจรได้อย่างปลอดภัย
3. ทางเดินผู้การสายตาต้องไม่ซับซ้อน
4. มุมป้าน การปาดไหล่ทางต้องมีองศาที่เหมาะสม เอื้อให้รถเลี้ยวรถเข้า/ออกได้ง่าย
5. จุดจอดรับส่ง ควรเพิ่มความยาวเพื่อให้รถเมล์ใช้ได้ด้วย เพื่อให้ลดการกีดขวางพื้นถนนขณะจอดให้มากที่สุด การให้รถเมล์จอดได้ด้วยนี่เป็นการสร้างการเชื่อมส่งผู้โดยสารขึ้นระบบรถไฟฟ้าพอดี เราควรให้ความสำคัญกับรถเมล์มากกว่ารถส่วนตัวเสียอีกด้วยครับ
6. จุดเชื่อมจากพื้นถนนขึ้นมาบนทางเท้าต้องเป็นระดับเดียวกัน และให้มีความลาดมากที่สุด

การสร้างเมืองที่ดีนั้นสมาชิกในสังคม ทุกคนต้องมีส่วนร่วม, ฝากทุกท่านช่วยให้ความเห็นเพิ่มเติม เดี๋ยวเราร่วมกันทำงานกับ สจส เพื่อปรับปรุงประเด็นนี้ครับ

ซาบะ
Accessibility Is Freedom
25 มิถุนายน 2563

[แบบจาก สจส ที่ออกข่าว]
[จุดอ่อนของแบบจาก สจส]

About saba

เราจะเป็น #หนึ่งพลัง ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม We will be THE ONE who change our country[มานิตย์ ซาบะ อินทร์พิมพ์][Manit Saba Intharapim][マニト・サバ・インサラピム]