[บรรยายพิเศษ] การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลักสูตรนานาชาติ)

ภาพ ถ่ายรวมหลังบรรยาย

ปีนี้เป็นปีที่ 5 ครับที่เราได้มีโอกาสไปบรรยายพิเศษให้กับน้องๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์…

ปีนี้เราได้เจอน้องๆ นักศึกษา ทั้งคนไทยและต่างชาติคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 17 คน เป็นปีที่ผมปรับโทนงาน การบรรยาย ใช้หัวข้อ “การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
เพื่อให้น้องๆ ได้เห็นมุมของปัญหาของคนหลากหลายมากกว่าเดิม ปีนี้ผมเชิญแขกมาเพิ่มครับ…

เช่นเดิม การบรรยายปีนี้ ผมยังคงขอให้น้องๆ ได้ทำกิจกรรมทดลองเป็นคนพิการ แม้จะแค่นิดหน่อย เพราะเวลาที่จำกัด แต่อย่างน้อยก็ทำให้น้องๆ ได้รับรู้ ได้รู้สึก และให้น้องๆ ได้สะท้อนถึงปัญหา เมื่อร่างกายเปลี่ยนไป…

ไม่กี่วันก่อนบรรยาย คุณแม่น้องโค๊กติดต่อมาที่เพจและได้คุยกันนิดหน่อย ผมตัดสินใจชวนขอให้คุณแม่พาน้องโค๊กมาเป็นแขกรับเชิญพิเศษ ร่วมให้ความรู้กับน้องๆ เชื่อมั่นว่าเราจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับน้องๆ มากอย่างแน่นอน

ก่อนเริ่มบรรยาย ผมบอกน้องๆ ว่า ปีนี้เราโชคดีมากจริงๆ…
เราได้พูดคุยกับคุณแม่และน้องโค๊ก ในฐานะครอบครัวที่มีลูกเป็นคนพิการ…
โค๊ก อายุ 19 แล้วครับ ผมประเมินจากที่เห็นคร่าวๆ น้องมีอาการภาวะสมอง (Cerebral Palsy)
โค๊กมีอาการเกร็งตามแขน ขา ร่างกายบางส่วน, การพูด-สื่อสารเข้าใจได้ แต่ยังช่วยเหลือตัวเองได้น้อย และยังไม่สามารถออกไปศึกษาเล่าเรียนได้, อยู่บ้านธุระส่วนตัว ดูแลตนเองได้พอสมควร และคุณแม่ต้องออกจากงานเพื่อดูแลน้องโค๊ก
คุณพ่อเป็นข้าราชการเป็นคนทำงาน ยังถือว่าโชคดีอยู่บ้างที่ฐานะครอบครัวไม่ได้ถึงกับเดือดร้อนมาก

“เราจะพัฒนาน้องโค๊ก ให้มีความยั่งยืนได้อย่างไร?”
น้องๆ นักศึกษาร่วมตั้งคำถาม ร่วมพูดคุย น่าสนใจมากครับ, เสียงจากคุณแม่สะท้อนออกมาด้วยความรัก ชัดเจนที่สุดคือ “อยากให้เขาดูแลตัวเองได้…” ลองถอยออกมา จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวต้องการ ไม่ต่างกัน จริงปะ?

ผมให้ข้อมูล, จำนวนประชากร, สถิติการศึกษาและการทำงานเพื่อสะท้อนภาพ เพื่อเป็นตัวชี้วัดให้ทุกคนได้เห็นภาพรวม ถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและคนพิการของประเทศไทย…

เพื่อให้เป็นความรู้ของน้องๆ ปีนี้ผมตั้งใจให้เกิดภาพการเปรียบเทียบระหว่างโค๊กและครอบครัว(A), ผม(B) และน้องๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงศึกษา หาความรู้ มีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง(C) เพื่อให้น้องๆ ได้เห็นและได้เข้าใจว่า ในที่สุดแล้ว “ไม่ว่าสภาพร่างกายจะเป็นอย่างไร เป้าหมายการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน ไม่ต่างกัน” เพียงแต่ว่า เมื่อวันหนึ่งสภาพร่างกายเปลี่ยนไป ความต้องการความช่วยเหลือก็จะต่างออกไป ตั้งแต่การดูแลเบื้องต้นให้แข็งแรง, ให้โอกาสที่จะออกไปศึกษาหาความรู้, ออกไปทำงานและใช้ชีวิตร่วมอยู่ในสังคม การให้การสนับสนุน ทุกส่วนล้วนสำคัญ

ส่วนงานของ Accessibility Is Freedom ที่ทำมาตลอด คือ การร่วมผลักดันแก้ไขสภาพแวดล้อม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ทุกคนต้องออกจากบ้าน > ไปโรงเรียน > ไปทำงาน > และเมื่อเจ็บป่วยก็สามารถไปโรงพยาบาลได้
สภาพแวดล้อมที่ดีจะสนับสนุน เอื้อให้เขาพัฒนาตนเองได้ ออกไปใช้ชีวิตสังคมอย่างอิสระได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือระบบการสนับสนุน เอื้อให้ทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง

ปีนี้ผมเขียนเยอะหน่อย เพราะอยากสรุปให้น้องๆ ที่มาเรียนได้เข้าใจเนื้อหาที่ผมบรรยายแน่นขึ้นครับ
ขอบคุณ คุณแม่ น้องโค๊กและครอบครัวที่มาร่วมให้ข้อมูลกับน้องๆ, อาจารย์มาเฮสและคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ครับ

19 กันยายน 2566
/ซาบะ
Accessibility Is Freedom

ภาพ พี่ซาบะกำลังให้นักเรียนทดลองเป็นคนพิการ

ภาพ ปก presentation มีรูป wheelchair พร้อมลูกศรชี้ลงและชี้ขึ้น ตัวหนังสือเขียนว่า Sustainable Development & Supporting System

ภาพ สไลด์แสดงวงจรชีวิตของคน ตั้งแต่ออกจากบ้าน ไปสถานที่ต่างๆ

About saba

เราจะเป็น #หนึ่งพลัง ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม We will be THE ONE who change our country[มานิตย์ ซาบะ อินทร์พิมพ์][Manit Saba Intharapim][マニト・サバ・インサラピム]