เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นโยบายที่เรายังรอเวลาให้เกิดขึ้นจริง

“เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ผมเชื่อว่า คำๆ นี้ทุกคนคงพอเคยได้ยินผ่านหูอยู่บ้าง ผมเองก็เพิ่งมาสนใจคำๆ นี้เมื่อผมเข้ามาลุยจับงานด้าน ‘สิทธิและความเท่าเทียม’ อย่างเข้มๆ ก็ที่ทุกๆ คนได้เห็น ได้รู้จักผมนี่แหละครับ

“เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นนโยบายระดับโลกที่องค์กรสหประชาชาติ (UN) กำหนดขึ้นมาเพื่อยกระดับความเท่าเทียมของคนในสังคม สมาชิกทั่วโลกต่างมีหน้าที่เดินหน้าตามนโยบายนี้ ประเทศไทยของเราเองก็เช่นกัน, รัฐบาลที่ผ่านๆ มาผมไม่ได้ร่วมทำงานด้วย ผมไม่ได้เก็บข้อมูลที่ชัดเจนอะไรนัก ก็เพิ่งมีรัฐบาลชุดนี้ที่ผมได้มีส่วนผลักดัน เข้าไปยุ่งกับระดับนโยบายประมาณหนึ่ง

วันนี้ขอเอาเรื่องตัวเอง เด็กอีสาน บ้านนาแท้ๆ มาขยาย เพื่อให้เปรียบวัด ตั้งแต่เด็กจนโต ถึงวัยเรียน ยันวัยทำงาน ต่อสู้ผ่าฝัน ตะเกียกตะกายใช้ชีวิต ทำมาหาเลี้ยงชีพ พัฒนาตัวเอง เพิ่งพาอาศัยตัวเองได้ วงจรชีวิตสัมผัสด้วยตัวเองทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด เส้นทางเดินชีวิตของตัวเอง แบ่งเป็น 4 ช่วงครับ
1) ตอนเด็กเล็กๆ ผมได้รับเชื้อโปลิโอ ขาหนึ่งข้างไม่มีแรง เป็นคนพิการเวอร์ชั่นหนึ่ง แม้การเคลื่อนไหวจะไม่สมบูรณ์เหมือนคนทั่วไปแต่ก็ถือว่าแข็งแรงมาก ใช้ชีวิตไม่ต่างกันทุกๆ คนครับ

2) อายุ 24 ช่วงต้นๆ วัยทำงาน ผมได้รับอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ล้ม คราวนี้เส้นประสาทแถวๆ กลางหลังเสียหาย เป็นอัมพาตครึ่งตัว เป็นคนพิการเวอร์ชั่นสอง ผมเรียกตัวเองแบบตลกๆ กับเพื่อนๆ ผม “พิการซ้ำซาก(จัง)” การใช้ชีวิตยากลำบากขึ้นกว่าเดิมเยอะครับ เมื่อก่อนมีรถมอเตอร์ไซด์คันงาม ขี่ไปไหนสาวก็มอง พอมานั่งรถเข็นคราวนี้มองเหมือนกันแต่มองแบบแปลกๆ ฮ่าๆ

มาดูด้านชีวิตและการพัฒนาการบ้าง การศึกษาหาความรู้ ช่วงเรียนประถมฯ ก็โรงเรียนในหมูบ้าน ช่วงเรียนมัธยมฯ ก็โรงเรียนประจำตำบล, ยังจำได้แม่น ช่วงเรียนมัธยมฯ พวกเราเดินทางกันโดยจักรยาน ปั่นไปโรงเรียนไป-กลับเกือบๆ 16 กิโลเมตร, เพื่อนปั่นผมก็ปั่น ตามๆ กันไปครับ ใช้ขาข้างเดียวที่ยังแข็งแรงนั่นแหละ, ส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน(ตามกฏหมาย) ทั้งระบบขนส่งสาธารณะและที่โรงเรียนทั้งสองช่วง ไม่ต้องเดาให้ยาก, “ไม่มี” หรอกครับ

3) ช่วง ม. 3 ผมได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรช่วยเหลือคนพิการ (ไม่ใช่หน่วยงานรัฐฯ – NGO) ทำให้มีโอกาสได้รับการผ่าตัด รักษา ยืดขาข้างที่ติด ทำให้เดินได้ดีขึ้น ใกล้เคียงเพื่อนๆ มากขึ้น

4) จบมัธยม เพราะครอบครัวจากจนมาก ผมเลือกทางผลักดันพัฒนาด้วยตัวเอง ทำงานไป เรียนไป เลือกในสิ่งที่มั่นใจ เดินหน้าลุย และได้รับการช่วยเหลือเพิ่มความรู้จากองค์กรช่วยเหลือคนพิการ NGO อีกเช่นกันครับ

เริ่มต้นวัยทำงาน ผมก็เลือกที่จะออกไปตลุยยุทธจักร ด้วยความเชื่อ “หากต้องการเป็นจอมยุทธ ต้องออกท่องยุทธจักร”
ผมตลุยใช้ชีวิตทำงานด้วยแนวคิด “อยู่ร่วมในสังคม” ตลอดมา แม้ศักยภาพร่างกายเปลี่ยนไป ก็ยังยึดและดำเนินชีวิตเหมือนเดิม
นี่เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ผมต้องผจญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ นานา ทำให้ได้ข้อมูลสนับสนุนการทำงานในทุกวันนี้อย่างมหาศาล

ระบบสนับสนุนต่างๆ เหรอ? โอ้ย ไม่รู้หรอกครับ สารภาพทุกวันนี้ “ยังรู้น้อยมาก” ส่วนหนึ่งเพราะผมไม่สนใจที่จะสืบเสาะหาข้อมูล เลยไม่รับรู้ถึงสิทธิประโยชน์เรื่องเหล่านี้อะไรซักเท่าไหร่ (ซึ่งไม่ดีครับ) แต่อีกส่วนก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงที่ต้องทำงานให้หนัก “ไม่รู้ก็ต้องทำให้รู้”

ช่วงนี้ผมหนีโควิดมาติด(ใจ) อยู่กระท่อมปลายนาตามคำแนะนำของคุณหมอบอก, บอกเลย “ผมมีความสุขมาก” แต่สิ่งที่ผมเห็น บ้านเมือง ผู้คนที่นี่ บ้านเกิดผมเอง พัฒนาไปไม่ถึงไหนเลย, “ไม่ถึงไหน” หมายความว่า…

โรงเรียนปฐมฯ ที่ผมเคยเรียนอาคารเก่าๆ หายไปหมดแล้ว มีอาคารใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา, โรงเรียนมัธยมผมไม่ได้แวะไปดู มองเข้าไป ก็คล้ายๆ กัน, สำนักงานท้องถิ่นประจำตำบล มีอาคารสวยๆ เกิดขึ้น, ตัวอำเภอเมือง เดี๋ยวนี้กลายเป็นจังหวัดแล้ว แต่สภาพบ้านเมือง ทางเท้า และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่เรามีกฏหมายตามกำหนดไว้แล้วตั้งแต่ปี 2548 นั้น “ยังมีสภาพ เหมือนเดิม” หมายถึง “ไม่มีเหมือนเดิมนั่นแหละ”

ที่อยากเขียนเรื่องนี้ เพราะผมไปบรรยายพิเศษให้กับน้องๆ นศ. คณะพัฒนาสังคมที่มหาวิทยาลัยทุกๆ ปี ปีนี้ก็เพิ่งจบไป บ้านเมืองยังพัฒนาเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทุกคนยังเพิ่งอยู่ในระดับป. ขี้ไก่ (ผมหมายถึง ความคิดและความรับผิดชอบของผู้ที่มีหน้าที่ตามกฏหมาย ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้นทุกวัน) ก็เลยต้องอาศัยระบบสนับสนุนอื่นๆ มากและก็ยังจำเป็นต้องช่วย ‘อุ้มชู’ อยู่ร่ำไป คนที่มีสภาพร่างกายด้อยกว่า ณ วันนี้ ยังถูกทิ้งไว้ข้างหลังมาตลอดหลายสิบปี และยังมีคนที่จะมีสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปในวันพรุ่งนี้อีก จะทำยังไงกัน?

ส่วนตัวผมมองเห็นว่า นโยบายนี้จะเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่ประชาชนก็ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นให้จงได้, ผมอยากเห็นหน่วยงานรัฐ ผู้ที่มีหน้าที่ตามกฏหมาย เดินงานอย่างเข้มข้น สร้างความเท่าเทียมอย่างจริงใจและจริงจัง

“ทิ้งคนหนึ่งคนไว้ข้างหลัง” นั้นส่งผลกระทบที่รุนแรงและสุดท้ายก็ส่งผลกระทบ ทำความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง

ก็ต้องตะโกนกันต่อไปครับ “อย่าทิ้งผมไว้ข้างหลัง”

ภาพ กร๊าฟแสดง คนแข็งแรงวิ่งเร็วง่ายกว่า คนพิการวิ่งช้าและยากกว่า

About saba

เราจะเป็น #หนึ่งพลัง ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม We will be THE ONE who change our country[มานิตย์ ซาบะ อินทร์พิมพ์][Manit Saba Intharapim][マニト・サバ・インサラピム]