เราไม่ได้ทำเพื่อผู้พิการ แต่เราทำเพื่อส่วนรวม…


โดย…ศิริกัญญา โกษากุล เพชรลักษมณ์ สุ่มมาตย์

“เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกนี้ก็ต้องจัดทำขึ้นเพื่อทุกคน” มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้คนพิการ ยืนยันหนักแน่นถึงความเท่าเทียมที่รัฐต้องจัดการบริการสาธารณะให้กับคนทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

กว่า 2 ปีที่แกนนำเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (Transport for All) ได้ออกมาเรียกร้องถึงการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง หลังจากกรุงเทพมหานคร จัดสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสให้แก่ผู้พิการจำนวน 23 สถานี ล่าช้ากว่ากำหนด ทั้งที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี คือ ในวันที่ 1 ม.ค. 2558 โดยทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งกับกรุงเทพมหานคร เรียกค่าเสียหาย 3.6 แสนบาท/คน ที่ไม่ได้รับความสะดวกจากการถูกกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ไม่ติดตั้งลิฟต์ในสถานีบีทีเอสดังกล่าว

การเรียกร้องและใช้มาตรการทางศาลของเครือข่ายเพื่อผู้พิการกลุ่มนี้เป็นข่าวดังและกดดันไปยังผู้บริหาร กทม. จนกระทั่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเร่งเครื่องติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้วีลแชร์ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เสร็จไปบางส่วนในช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ก่อสร้างลิฟต์และเปิดใช้งาน 4 สถานี รวม 11 ตัว คือที่สถานีราชดำริ 3 ตัว สถานีพร้อมพงษ์ 3 ตัว สถานีทองหล่อ 3 ตัว และที่สถานีอ่อนนุช 2 ตัว พร้อมกับรับปากว่า แม้ยังเหลือหลายสถานี แต่ผู้ว่าฯ กทม. รับปากว่าจะให้เสร็จภายในเดือน ส.ค.ให้ได้

ทั้งหมดเป็นการเร่งทำก่อนที่ศาลแพ่งจะเริ่มกระบวนการนัดไต่สวนในวันที่ 21 มี.ค.ที่จะถึงนี้

วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ มานิตย์ อินทร์พิมพ์ ชายพิการในฐานะแกนนำที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งเคยโด่งดังจากคลิป การรณรงค์ไม่ละเมิดสิทธิที่จอดรถคนพิการ ทำให้เกิดกระแสโด่งดังไปทั่วสามารถกระตุ้นจิตสำนึกของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี

มานิตย์ เล่าว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า สิทธิมนุษย์มีเท่าเทียมกัน พวกเราก็เหมือนกัน ไม่ต่างกันเพราะเป็นมนุษย์เหมือนกัน คนเราถ้าไม่ตายก่อนทุกคนก็อาจเป็นคนพิการได้เช่นกัน เช่น ยามแก่ตัวไปเดินไม่ไหวก็ต้องใช้ไม้เท้าหรือรถเข็นเข้ามาช่วย ดังนั้น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจึงไม่ใช่เพียงแต่การทำเพื่อคนพิการ แต่เป็นการทำระยะยาวเพื่อคนทุกคน

มานิตย์ เล่าอีกว่า การเรียกร้องสิ่งอำนวยความสะดวกหรือลิฟต์ของกลุ่มคนพิการเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ในเรื่องของบีทีเอสนี้เป็นแค่กรณีเดียว แต่ความจริงแล้วมีอีกหลายกรณีในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ คนปกติทั่วไปสามารถไปไหนได้อย่างสะดวกสบาย แต่ในกรณีของคนที่ต้องนั่งรถเข็นก็มีความจำเป็นพื้นฐานที่ต่างกัน อย่างเช่น บันได เมื่อขึ้นไม่ได้ ก็ต้องการทางลาด ต้องการลิฟต์

“ภาพของคนทั่วไปมองคนพิการ ยังเห็นเป็นเรื่องไกลตัวที่เป็นเรื่องเฉพาะของผู้พิการ หรือเฉพาะของกลุ่มคนเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่เราทำเพื่อต้องการเรียกร้องต่อส่วนรวมทุกคน และให้ทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน เพราะระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการนั้น โอกาสที่ได้รับ หรือโอกาสในการพัฒนาตัวเองนั้นต่างกัน”

เขาบอกว่า ตั้งแต่เด็กการที่เรารู้ว่าร่างกายเรามีปัญหา หรือผิดปกติ ต้องใช้สิ่งแทนมาชดเชยในส่วนของการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ คนพิการจะได้รับโอกาสที่น้อยกว่า อีกทั้งในเมืองไทยมองเห็นภาพคนพิการว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทั้งที่คนพิการเมื่อร่างกายมีปัญหายังพยายามสู้ต่อ และใช้ชีวิต แต่ด้วยเพราะสิ่งที่มาปิดกั้นและไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ยังคงติดเป็นภาพจำของคนทุกคนในสังคมว่าคนพิการนั้นเป็นบุคคลที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

คนเราไม่ต้องการให้คนอื่นมาช่วยเหลือตลอดเวลา แต่สิ่งที่ต้องการคือการช่วยเหลือตัวเองได้เป็นเหมือนกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวทุกคน ดังเช่นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า “งานช่วยเหลือคนพิการนี้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะว่าผู้พิการมิได้เป็นผู้ที่อยากพิการ แต่อยากช่วยตนเอง ถ้าเราไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไร เพื่อชีวิตและเศรษฐกิจของครอบครัวจะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้น นโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยเหลือเขาให้ช่วยตนเองได้ เพื่อที่จะให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม”

การเรียกร้องสิทธิให้มีลิฟต์ในรถไฟฟ้าบีทีเอส มานิตย์ ยืนยันว่า เป็นเพียงแค่หนึ่งในเรื่องการอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้น และสร้างความเท่าเทียม หรือแม้กระทั่งการสร้างโอกาสกับทุกคนภายในสังคม ไม่ต้องการให้เรียกร้องแล้วให้ผ่านไป เพราะคนปกติทั่วไปคงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมี แต่ในบางครั้งความจำเป็นและการใช้งานไม่ได้มีเพียงแค่คนทั่วไปที่ต้องการใช้ลิฟต์เท่านั้น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นการสร้างเพื่อคนในสังคมที่ต้องการใช้งานในส่วนที่ตัวเองควรได้รับ

การได้รู้เรื่องราวของอีกมุมที่เราอาจไม่รู้ว่าเสียงเล็กๆ ของพวกเขาเหล่านั้นต่างสะท้อนความต้องการพื้นฐานในฐานะความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนเช่นกัน เสียงที่เป็นส่วนหนึ่งของการมองต่างมุมโดยที่เราอาจมองข้ามไปในเรื่องที่ทุกคนต่างจำเป็นต้องใช้ การขับเคลื่อนครั้งนี้เป็นการคืนสิทธิแห่งความเสมอภาคเพื่อสร้างมาตรฐานแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน

– – –
ภาพและเรื่องจากบทความที่โพสต์ ทูเดย์เขียนเมื่อต้นปีครับ
ขออนุญาติคัดลอกมาเพื่อเก็บสำรองไว้ (และเพื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ขอบคุณโพสต์ ทูเดย์ครับ, link ถึงบทความต้นฉบับ อ่านได้ที่นี่ครับ https://www.posttoday.com/social/general/485876

About saba

เราจะเป็น #หนึ่งพลัง ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม We will be THE ONE who change our country[มานิตย์ ซาบะ อินทร์พิมพ์][Manit Saba Intharapim][マニト・サバ・インサラピム]