ห้องน้ำคนพิการ พี่ซาบะลงพื้นที่สำรวจเบาๆ รอบสอง เซ็นทรัลบางนา

ห้องน้ำคนพิการ วันก่อนลงสำรวจชั้นบน บ่นไปพอประมาณเพราะเห็นแล้ว ‘ไม่ไหวเลย’ ครับ
เข้าใจว่าเป็นห้องน้ำพื้นที่เก่า แต่ยังไงการปรับแก้ห้องน้ำทำได้ง่ายๆ ครับ เพราะไม่ใช่โครงสร้างหลักของอาคาร

คราวนี้แวะไปสำรวจอีกรอบ เป็นโซนใหม่ ชั้น B1 โซน Food Center ที่ย้ายลงมาจากชั้นบนมาอยู่ชั้นล่าง
คราวนี้ขอ comment ซักหน่อย เพื่อให้สังคมได้รับทราบและเกิดประโยชน์สูงที่สุด

ห้องน้ำเป็นแบบแยกออกมาจากห้องน้ำทั่วไป สามารถใช้ได้ทั้งชายและหญิง
ภาพรวมถือว่าเซ็นทรัลมาถูกทางแล้ว ดีมากครับ สะอาดและคะแนนการเข้าถึง ‘ทำได้ดีพอควร’
ออกตัวก่อนว่า เป็นการสำรวจในการใช้งานนะครับ ไม่ได้ถึงกับต้องวัดเป๊ะๆ
เอาล่ะ มาไล่ดูกันหน่อยว่า พี่ซาบะเห็นอะไรบ้าง…

#ประตูห้องน้ำ

  1. ประตูห้องน้ำ/ด้านนอก
    เป็นแบบบานเลื่อน เปิดปิดง่าย, ความกว้าง = ผ่าน
  2. ประตูห้องน้ำ/ด้านใน
    ที่ล๊อคเป็นแบบคันโยก ซึ่งดีมากครับ (คนพิการที่ไม่มีมือจะได้เปิด/ปิด และล๊อคห้องน้ำได้ง่าย)
  3. ระบบขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน/หน้าห้องน้ำ
    พบมีติดตั้งที่ด้านบนประตู, ระบบสัญญาณขอความช่วยเหลือทำงาน มีเสียงด้วยหรือไม่ วิ่งไปที่ระบบกลางหรือไม่ ไม่ได้ทดสอบ (เดี๋ยวจะแอบไปทดสอบ)
  4. ตำแหน่งปุ่มกดขอความช่วยเหลือ/หน้าห้องน้ำ
    ติดตั้งอยู่สูงไปนิด ขอให้ความสูงอยู่ในระยะที่คนนั่งรถเข็นใช้งานได้ด้วยครับ
    ต้องไม่ลืมว่า คนพิการเองก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นด้วยเช่นกัน
    ณ ถึงเวลานั้น หากคนพิการต้องการกดปุ่มเรียกเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยคนข้างใน แล้วทำไม่ได้ สังคมเสียประโยชน์ครับ

 

#โถส้วม

  1. พื้นที่กลางห้องน้ำ
    รถเข็นสามารถหมุนตัวได้ไม่ติดอะไร (ตามกฏกระทรวงกำหนดไว้ให้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เมตร)
  2. ราวจับ
    ฝั่งซ้ายมือ: อยู่ในตำแหน่งที่โอเค แต่ความแข็งแรงยังไม่ดีนัก โยกเยก อาจจะเกิดปัญหาในอนาคตได้
    ฝั่งขวามือ: อยู่ในตำแหน่งที่ไกลเกินอื้ม เช่น ผู้สูงอายุต้องการลุกไม่สามารถใช้งานได้ ระยะที่แนะนำ (ตามกฎกระทรวง) คือ 150มม – 200มม
  3. ก้านโยกกดน้ำ
    ตำแหน่ง: สูงเกินไปและอยู่ในมุมที่ใช้งานลำบาก
  4. ถังขยะ
    เป็นแบบเหยีบเพื่อเปิดฝา คนพิการที่นั่งรถเข็น กลุ่มคนพิการท่อนล่าง ใช้งานไม่สะดวก
  5. ระบบขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน/ในห้องน้ำ
    เป็นแบบปุ่ม ไม่มีเชือกดึง และมีแค่จุดเดียว อาจทำให้คนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ใช้ได้
    ควรมีเชือกห้อยลงมาเรี่ยพื้นและควรมีหลายจุด เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ เพิ่มโอกาสในการขอความช่วยเหลือ นั่นคือเพิ่มโอกาสของการช่วยทุกชีวิตนั้นเอง
  6. กระดาษชำระ
    ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงเกินไป

 

#โถยืนปัสสาวะ
ภาพรวม(น่าจะ) โอเคมังครับ ฝากคนพิการที่ยืนปัสสาวะมาช่วยให้ข้อมูลด้วยครับ

 

 

#อ่างล้างหน้าและกระจก

  1. ราวจับ
    เป็นราวแบบที่หลายๆ ที่ใช้กัน ราวแบบนี้คนที่ใช้รถเข็นไม่ชอบเลยครับ
    ลองนึกสภาพรถเข็นโดยเฉพาะรถเข็นที่มีขนาดใหญ่ๆ ราวจับแทนที่จะช่วยกลายเป็น ‘กีดขวาง’ ทำให้ใช้งานสิ่งต่างๆ ไม่สะดวก
    ควรใช้ราวจับแบบติดฝาผนังและพับเก็บขึ้นด้านบนได้ อย่าลืมเรื่องความแข็งแรงด้วยครับ สำคัญมาก
  2. อ่างล้างมือ
    ความสูง: ผมทดสอบแล้วโอเค แต่ระยะต้องวัดตามกฎกระทรวงครับ
  3. ก๊อกน้ำ
    เป็นแบบอัตโนมัติ ผ่านครับ
  4. กระจก
    ต้องไม่ลืมว่า ทุกๆ คนก็ต้องการดูความสวยความหล่อ อยากสำรวจความเรียบร้อยของตัวเองก่อนออกจากห้องน้ำไม่ต่างกัน
    การติดตั้งเชื่อว่าพยายามลดความสูงลงแล้ว จะเห็นว่าภาพผมในกระจก ทำได้เท่านี้
    สิ่งที่ต้องทำคือ ‘ติดตั้งกระจกแบบเอียง’ ครับ
  5. ตำแหน่ง/ความสูงของการวางเครื่องใช้สอยต่างๆ
    กล่องกระดาษทิชชู่ ที่กดน้ำสบู่ล้างมือ อยู่สูงเกิน
    และโดนราวจับขวางไว้ ยิ่งเกินเอื้อม ผมนี่ต้องพยายามหนักกว่าจะหยิบกระดาษได้
    คนอื่นๆ ที่ลำบากกว่า จบข่าวเลยครับ

 

เราต้องไม่ลืมและคิดถึงคนที่แย่ที่สุดเสมอ ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยในวันนี้ อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ในวันข้างหน้า, มาตรฐานที่ดี เราควรต้องมี แล้วทุกอย่างจะดี ประเทศไทยจะเจริญครับ

About saba

เราจะเป็น #หนึ่งพลัง ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม We will be THE ONE who change our country[มานิตย์ ซาบะ อินทร์พิมพ์][Manit Saba Intharapim][マニト・サバ・インサラピム]