ห้องน้ำสถานีสวนสนประดิพัทธ์ (รถไฟทางคู่ / รฟท)

14 กันยายน 2565
รถไฟทางคู่ เราไปดูกัน 3 สถานี ห้องน้ำคล้ายๆ กัน ตามภาพคือห้องน้ำสถานีสวนสนประดิพัทธ์ ผมให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ที่หน้างานแล้ว
ทั้งนี้ ลงข้อมูลไว้ เพื่อความชัดเจนในการติดตามและขอให้ปรับปรุงรถไฟทางคู่ ทุกสถานีเพื่อให้ห้องน้ำในระบบรถไฟทางคู่ “อย่างน้อย” ผ่านกฏกระทรวงว่าด้วยการกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานฯ (ซึ่งถือเป็นขั้นต่ำ) ดังนี้ครับ

1. ขาดเบาะพิงหลัง
2. ขาดราวจับ ข้างโถส้วม
จุดนี้เดาว่าคนออกแบบพยายามใช้ราวจับอันเดียว ซึ่งสามารถทำได้ แต่ต้องขยับชุดอ่างล้างหน้าทั้งชุดรวม(ถึงราวจับฝั่งผนังที่จะติดเพิ่ม) มาให้อยู่ในระยะครับ
3. กระจก
ถือว่า พอใช้ได้ ผมมองเห็นตัวเองในกระจกประมาณระดับหน้าอก แนะนำให้เพิ่มการติดตั้งกระจกเป็นมุมเอียงครับ
4. ขาดราวจับ ฝั่งซ้ายอ่างล้างหน้า
5. แก้ลูกบิดที่ล๊อคประตูด้านใน ต้องเป็นแบบก้านบิดครับ
6. ขาดชุดระบบขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ที่ต้องส่งสัญญาณไปที่ห้องที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำ

การติดตั้งอุปกรณ์ทุกอย่างต้องผ่านกฏกระทรวงฯ ตามที่ได้แจ้งไว้ เช่น ราวจับ ถ้าผิดตำแหน่งอาจทำให้ผู้ใช้เกิดอันตรายได้ครับ

มีรายการเพิ่มเติมนอกเหนือจากกฏกระทรวงฯ ที่คุมอยู่ ทุกๆ ครั้งผมจะเชียร์ให้ทำห้องน้ำโดยใช้มาตรฐานญี่ปุ่นหรือสูงกว่าครับ
มีทั้งมาตรฐานการใช้อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่มากกว่า เช่น
S1. มีเตียง เพื่อเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือแพงเพิ๊ส
จำเป็นมากครับ คนพิการอีกเยอะเลย ที่จำเป็นต้องจัดการธุรส่วนตัวของตัวเองในขณะที่เดินทาง
ผมเดินทางไปต่างประเทศ ก็ต้องใช้หลายๆ ครั้งครับ
ขนาดเตียงพยาบาล (ไม่ใช่แบบที่เปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก) จะทำเป็นแบบพับได้ ก็ตามสะดวกครับ
S2. มีโถสำหรับเทของเสียหน้าท้อง
สำหรับคนที่เจาะหน้าท้องครับ
S3. ขาด ที่ใส่ม้วนกระดาษทิชชู่
S4. ที่แขวน ที่วางสัมภาระ
เช่น เสื้อนอกโน่นนี่นั่น คนเดินทางมักพะรุงพะรัง จำเป็นมากเวลาใช้ห้องน้ำครับ

ทั้งหมดจะรวบรวมส่งให้ รฟท. ครับ

อ้างอิง:
https://www.accessibilityisfreedom.org/กฏหมายและข้อมูลอ้างอิง/
https://www.accessibilityisfreedom.org/รีวิวห้องน้ำญี่ปุ่น/

#ปัญหารถไฟทางคู่
#ปัญหารฟท
#รฟท #กรมราง #กระทรวงคมนาคม

About saba

เราจะเป็น #หนึ่งพลัง ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม We will be THE ONE who change our country[มานิตย์ ซาบะ อินทร์พิมพ์][Manit Saba Intharapim][マニト・サバ・インサラピム]