สำรวจมหาวิทยาลัยจุฬาฯ | Chula Walk/0

ไม่นานมานี้ น้องนิสิตมหาวิทยาลัยจุฬาฯ ติดต่อมาขอสัมภาษย์เกี่ยวกับการเข้าถึงสถานศึกษา
“ประโยชน์กับน้องๆ มากที่สุด เราไปเดินเล่นที่มหาวิทยาลัยน้องกันดีมั้ยครับ?” เป็นคำที่ผมชักชวนน้อง เพราะไปลงพื้นที่จริง สนุกกว่านั่งคุยกันผ่านระบบออนไลน์เยอะเลย!
“ชวนเพื่อน ชวนอาจารย์มาด้วยเลยยิ่งดีครับ” ชวนน้องไม่พอ แหม พี่ซาบะแถมยังขอให้ชวนเพื่อนๆ มาเพิ่มอีก, เจอพี่ซาบะทั้งทีมันต้องสนุกแน่นอนสิ^^

ในที่สุดก็กลายเป็น โครงการเดินสำรวจมหาวิทยาลัยจุฬา (Chula Walk) ในวันที่ 2 กุมภาพันธุ์ที่ผ่านมาครับ

การลงพื้นที่ โจทย์ของผมคือ ให้น้องๆ เจ้าถิ่นเป็นไกด์ทัวร์ โดยได้ขอให้น้องๆ พาเดินทางแบบปกติที่ทุกคนทำกันทุกวัน
ให้สังเกตุตัวหนังสือสีแดงหรือเกือบแดงคือประเด็นที่มีปัญหา ส่วนสีน้ำเงินคือประเด็นที่ถือว่าผ่านครับ

ข้อมูลสรุปแยกตามกลุ่มจุดสำรวจ ตามนี้ครับ:

จุดที่ 1 การเดินทางไปมหาวิทยาลัยจุฬาฯ / ขึ้นรถป๊อบที่หน้าโรงหนังลิโด้
จากจุดนัดพบ Skywalk BTS สถานีสนามกีฬา > ลงแนวถนนฝั่งสยาม [ไม่มีลิฟท์], ทำให้ต้องไล่เดินไปตามๆ ห้างฝั่งตรงข้ามเพื่อลงพื้นดิน ก็เดินหาลิฟท์หาทางไปเหมือนหนูที่ไม่รู้ทาง พยายามหารูไปให้ได้นั่นแหละ เข้าสยามดิส เจอปัญหา [ลิฟท์ลงพื้นถนนปิด] เพราะกำลังมีการสร้างทางเท้า, ก็ต้องเดินวนกันไปมา > ทะลุไปสยามเซนเตอร์ ยังดีที่เจอ [ทางลาด ที่มีความชันมากพอดู] > ลงทางเท้า โชคดีบ้างที่คนสร้างทางเท้าวางกระเบื้องทางเดินให้คนพอสัญจรได้ มี “ความกว้าง พอไปได้” กับรถเข็นที่ผมใช้ แต่ก็ต้องเสี่ยงกันหน่อย > พาน้องๆ เดินทวนกลับไปสี่แยกปทุมวัน ถึงขอบอาคารด้านข้างสยามดิสจุดที่รถขับออกถนนพญาไท > ถึงจุดนี้เราต้องพูดคุยกัน มีทางเลือก:
1.1) ข้ามไปฝั่งสยามสแควร์โดยข้ามถนนตรงสี่แยก(ใต้ Skywalk) แบบไม่มีระบบช่วยเหลือใดๆ หรือ
1.2) เดินย้อนไปอาศัย BTS สยาม (สถานีติดกัน) เพื่อใช้ลิฟท์ลงฝั่งตรงข้าม

…น้องๆ มองกันไปมา…

“ป๊ะ! ไปแบบที่พี่ซาบะไปทุกๆ ครั้งก็แล้วกันครับ” ผมตัดสินใจให้และชวนลุย คำว่าปกติของผมคือ [“ต้องทำตัวเป็นรถ” เข็นรถ(และเดิน)บนถนน และยังต้องสวนเลนรถที่วิ่งมาและเดินตัดสี่แยกข้ามกันหน้าตาเฉย] ล่ะครับ คนที่ใช้รถเข็นทำแบบนี้ตลอดเวลาเพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ, ผมนำ คอยบอกน้องๆ ด้วยความเป็นห่วง “ระวังรถมากๆ นะครับ” > พอข้ามไปฝั่งสยามได้ ก็เดินตามทางเท้าไปโรงหนังลิโด้ สบายหน่อยทางเท้าฝั่งนี้ทำใหม่ เปิดให้ใช้แล้ว > พอไปถึงพบว่า [“รถป๊อบ” เป็นรถแบบเก่า รถเข็นใช้ไม่ได้ ทางขึ้นบันได] เป็นรถบัสแบบเก่าเหมือนรถเมล์ส่วนใหญ่ที่วิ่งใน กทม นี่แหละ…

ผมเขียนละเอียดหน่อย เพราะอยากให้เห็นว่ามันมีเรื่องไม่ปกติเต็มไปหมด, แค่จะมาขึ้นรถเข้ามหาวิทยาลัยก็สนุกแล้วครับ^^

จุดนี้ผมสรุปให้คะแนน: สีแดง เพราะการเดินทางที่ยังอันตรายมาก + รถป๊อบใช้ไม่ได้ทุกคน

 

จุดที่ 2 เดินไปมหาวิทยาลัยโดยใช้ทางเท้า
ทางเลือกแรก รถรับส่งใช้ไม่ได้ไม่เป็นไร เราก็เดินกัน ระยะทางจากหน้าห้างมาบุญครองถึงประตูจุฬา เกือบๆ 700เมตร ถ้าสภาพแวดล้อมทางเท้าเอื้อเดินกันได้สบายมาก
น้องๆ เจ้าถิ่นพาเดินตามเส้นทางเดินพื้นที่สยามลัดทะลุไปห้างสยามสเคป > แล้วก็เดินตาม ถนนพญาไท ทางเท้าถือว่ามีสภาพ “พอไหว” คนใช้รถเข็นที่แข็งแรงไปได้สบาย, แต่คนที่ไม่แข็งแรงก็ต้องให้ความช่วยเหลือบางจุด, ส่วนคนตาบอด ไม่มีกระเบื้องนำทางให้ครับ > แล้วก็ถึงประตูทางเข้าจุดคณะสถาปัตยโดยสวัสดิภาพ^^

จุดนี้ผมสรุปให้คะแนน: สีแดง รถเข็นพอไปไหวแต่คนที่ไม่แข็งแรงจะต้องถูกช่วยเหลือ คนตาบอดไปไม่ได้ (ซึ่งไม่ควรเกิดความช่วยเหลือ)

 

จุดที่ 3 พื้นที่สาธารณะภายในรั้วมหาวิทยาลัย / ทางเท้า ถนนหนทาง ทางม้าลาย
เราไม่ได้เดินกันทุกจุดนะครับ สรุปผมชอบต้นไม้ใหญ่ ชอบความร่มรื่น, “ผมเลือกมาเรียนที่นี่ก็เพราะแบบนี้แหละครับ” หนึ่งในน้องนักศึกษาจุฬาฯ เล่าถึงความร่มรื่น แน่นอนบ้านเราเมืองร้อนต้นไม้ให้ร่มเงาจำเป็นมากๆ ครับ
เอาล่ะในภาพรวมคือ สภาพทางเท้าเสียหายเพราะเก่าแล้ว, ได้ไปนั่งดูทางข้ามแบบ 3D ด้วย [ไม่เห็นรถชลอซักคัน]^^, สภาพทางเท้า-ทางเดินส่วนใหญ่ที่เห็นมีความกว้างที่ดี, การเชื่อมต่อกันของทางเท้าแต่ละส่วนมีปัญหาบางจุด, ป้ายและสัญลักษณ์ต่างๆ มีน้อย, แต่ภาพรวม [ทางเท้า ทางเดินมีพื้นฐาน มีศักยภาพที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ไม่ยาก] ครับ

จุดนี้ผมสรุปให้คะแนน: สีแดง การเดินเท้ายังไม่ปลอดภัยเพียงพอ, ยังไม่เอื้อกับคนตาบอด

 

จุดที่ 4 อาคารสถานที่ต่างๆ
เราแวะดูคณะสถาปัตย+ห้องสมุด > คณะอักษรฯ + โรงอาหาร > คณะรัฐศาสตร์+ศาลาพระเกี้ยว + อาคารจอดรถ
ในภาพรวม [อาคารเก่ามีปัญหาแน่ๆ อยู่แล้วครับ], [ห้องน้ำคนพิการไม่มี], [ทางลาดทั้งด้านนอกและในอาคาร จากที่ตรวจสอบบางจุด-ชันเกินไป ไม่ได้มาตรฐาน], [อาคารจอดรถ 1 จุด หน้าลิฟท์เป็นบันได] ส่วนจุดที่สร้างใหม่เริ่มดีขึ้นพอควร, บนพื้นที่รวมคณะเช่น จุดขายอาหาร การเลือกแบบโต๊ะนั่ง-ปรับนิดหน่อยก็ดีแล้ว, [ระดับพื้นการเชื่อมต่อระหว่างอาคารและทางเดิน มีปัญหาบ้าง] แต่ปรับได้ไม่หนักหนาครับ

ที่คณะรัฐศาสตร์ขณะที่เรากำลังดูศาลาพระเกี้ยว ท่านรองคณะบดีคณะรัฐศาตร์ (รศ.ดร.จักริช สังขมณี) เดินผ่านมาพอดี เลยได้ทักทาย พูดคุยกันนิดหน่อย ท่านรองฯ บอกเห็นงานการเคลื่อนไหวเราอยู่แล้ว ท่านยินดีรับคำแนะนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงในส่วนที่เราให้ความคิดเห็นไว้ น่ารักมากๆ ครับ

จุดนี้ผมสรุปให้คะแนน: สีแดง เพราะทุกอาคารที่สำรวจยังไม่เอื้อกับทุกคนครับ

 

จุดที่ 5 เข้าถึงห้างรอบๆ มหาวิทยาลัย
พวกเราแวะห้างตามรายทางผ่าน ตามนี้ครับ สยามดิส, สยามเซนเตอร์, สยามสเคป, จามจุรีสแควร์ และสยามย่านมิตรทาวน์
[“เส้นทางเดินและการเชื่อมต่อ” ยังไม่ปลอดภัยและต้องเสี่ยง สำหรับบางคนอาจจะเดินทางไม่ได้ คนตาบอดเลิกคุยกันเลย น่าเป็นห่วง ควรทำดีกว่านี้ครับ]

กลุ่มลูกค้าหลักของห้างคือกลุ่มคนจากมหาวิทยาลัย สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับทุกคน ล้วนส่งผลถึงธุรกิจของภาคเอกชนและพื้นที่เมือง คนทุกคนได้รับประโยชน์เพิ่มแน่ๆ อยู่แล้ว แปลกใจที่กลุ่มคนที่ทำงานด้านยุทธศาสตร์ของห้าง มองข้ามเรื่องนี้ไปได้ยังไงกัน น่าคิด, ส่วนอื่นๆ ของห้างเดี๋ยวยกไปอีกโพสครับ

จุดนี้ผมสรุปให้คะแนน: สีแดง การเชื่อมต่อยังไม่มี ทุกคนยังเดินทางด้วยตนเองไม่ได้ ครับ

 

ส่งท้าย
“ทุกคนต้องออกจากบ้านได้ > เดินทางได้ > ไปโรงเรียนได้ > ไปโรงพยาบาลได้ > ไปทำงานได้ และต้องไปช๊อปปิ้งได้” เป็นคำที่ผมต้องพูดบ่อยๆ ซึ่งอธิบายได้ทุกอย่าง
สิ่งที่น้องๆ คณะร่วมสำรวจสัมผัสได้ตรงกันคือ “สิ่งทุกคนทำเป็นปกติ แต่พอมากับพี่ซาบะวันนี้ ไม่ปกติ-วุ่นวายมาก”

รัฐธรรมนูญของไทยเขียนไว้ว่า “สิทธิทุกคนเท่ากัน”, และเมื่อ 17 ปีที่แล้วกระทรวงมหาดไทยออกกฏกระทรวงว่าด้วยการกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานฉบับแรก และได้แจงรายละเอียดการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานขั้นต่ำที่จำเป็นไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ทุกๆ ที่ในประเทศไทยยังมีปัญหาการเข้าถึงได้ยากลำบากมาก

สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ต้อง “เข้าถึงและใช้ประโยชน์ในสิ่งอันเป็นสาธารณะได้” เท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธาณะ, อาคาร สถานที่ หรือสถานศึกษาไม่มีข้อยกเว้นครับ

ก่อนออกเดินสำรวจ ผมสอบถามน้องๆ ว่า มีเพื่อน ได้รู้จักนักศึกษาพิการบ้างมั้ย?
คำตอบคือ “แทบไม่เคยเห็นเลย นานๆ ที” ซึ่งเป็นคำตอบที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี และหากค้นดูสถิติการศึกษาของคนพิการในประเทศไทยก็จะยืนยันได้อีกแรงครับ

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องของคนพิการ, ทุกคนรู้ดีว่าสภาพร่างกายคนเปลี่ยนแปลงได้เสมอ, สิ่งเหล่านี้จะเป็นหลักประกันให้กับทุกคนในวันพรุ่งนี้ เมื่อร่างกายเราเปลี่ยนไปครับ

ทีมจุฬา & ทีมภาคีเยาวชนเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และ Accessibility Is Freedom เราเดินกันตั้งแต่หลังเที่ยง-ยันเย็น สนุกมาก
ข้อมูลจะเป็นเพียงสรุปเบื้องต้น เราจะทำงานร่วมกันต่อเนื่องอย่างแน่นอน
ติดตาม hashtag #จุฬามหาวิทยาลัยเพื่อทุกคน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยังยืนครับ

 

สมาชิก Chula Walk/0
– ณัฏฐณิชา ภู่คล้าย + ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ + สิรภพ อัตโตหิ / คณะอักษรศาสตร์ / จุฬา
– เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิต / คณะรัฐศาสตร์ / จุฬาฯ และน้องๆ นิสิตอีกหลายท่านมาร่วมเดินด้วย
– น้องออม + น้องเทม + น้องอ๋อง / ภาคีเยาวชนเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน แก๊งค์นี้ช่วยถ่ายภาพให้-เยี่ยมมาก
– พี่ซาบะ / Accessibility Is Freedom

 

ข้อมูลอ้างอิง:
– กฏหมายไทย: https://www.accessibilityisfreedom.org/กฏหมายไทย/
– มาตรฐานทางข้ามขั้นต่ำ https://www.accessibilityisfreedom.org/ทางข้ามยกพื้นใหม่/

 

ภาพ คณะกำลังเดินตัดแยกปทุมวัน อยู่บนพื้นถนน
The gang กำลังเดินข้ามแยกปทุมวันเพราะฝั่งสยามไม่มีลิฟท์ แค่เริ่มเดินทางก็สนุกแล้ว^^

 

ภาพ กำลังดูรถป๊อบกันที่หน้าโรงหนังลิโด้
รถป๊อบสำหรับรับส่งเป็นบันไดใช้ไม่ได้ (ได้ข่าวรถชุดใหม่ มีข้อกำหนดรถเข็นใช้ได้-เดี๋ยวต้องมาลอง)

 

ภาพ สภาพทางเท้าถนนพญาไท
สภาพทางเท้าถนนพญาไทระหว่างทางเดินไปจุฬาฯ 1) 2) 3) คือ อุปสรรคกับคนทำให้คนที่มีสภาพร่างกายที่แตกต่าง & กลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องการมองเห็น – เดินทางด้วยตัวเองไม่ได้ครับ

 

ถนน ทางเท้า และทางข้ามภายในมหาวิทยาลัย
(1) ทางม้าลาย 3D นั่งดูหลายเที่ยว ไม่เห็นทำให้รถชลอเลย
(2) ไม่มีทางลาด
(3) ไม่มีลูกระนาดเตือนก่อนถึงจุดข้าม
(4) ป้ายเตือน ไม่มีก่อนถึงจุดข้าม
(5) และทางเท้าไม่มีกระเบื้องนำทางให้กับกลุ่มคนที่มีปัญหาทางสายตา
แนะนำให้ทำทางข้ามแบบนี้ ข้อกำหนดขั้นต่ำดูได้ที่นี่ครับ https://www.accessibilityisfreedom.org/ทางข้ามยกพื้นใหม่/

 

อาคารหลักคณะสถาปัตย ด้านหน้า
(1) ด้านหน้าเป็นบันได ต้องเข้าด้านข้าง
จุฬาฯ สภาพแวดล้อมร่มรื่น เอื้อให้เกิดการเดินดีมากๆ ครับ

 

อาคารหลักคณะสถาปัตย ด้านใน
(1) ทางลาด อันตรายมาก

 

ภาพ สภาพพื้นต่างระดับภายในอาคาร
สภาพพื้นต่างระดับภายในอาคารเก่า ความสูงแค่ 1 นิ้วสร้างปัญหาให้กับคนเยอะครับ เดินเผลอขาพลิกได้ แก้ไขทำทางลาดไม่ยากครับ

 

 

ทางลาดเข้าอาคาร
(1) ชันกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ (1:12)

 

ภาพ โต๊ะนั่งทำงาน โต๊ะอาหารยังเป็นแบบที่รถเข็นนั่งได้ไม่ถนัด
โต๊ะนั่งทำงาน โต๊ะอาหาร การเลือกใช้หากคำนึงถึงทุกคนตั้งแต่แรก เราก็จะเลือกแบบที่ดีกว่าได้, โต๊ะแบบนี้ถ้าจะแก้ไข-ไม่ยากครับ

 

 

ภาพ ทางเข้าโรงอาหารมีพื้นต่างระดับ 1 นิ้ว 2 ตอน
ทางเข้าโรงอาหารอีกหนึ่งจุด พื้นต่างระดับความสูง 2-3นิ้วตัดคนออกจากกิจกรรมทุกอย่างอย่างน่าเสียดาย แม้จะมีทางเข้าอีกจุดเป็นพื้นระดับเดียว ก็สมควรต้องแก้ไข เพราะ “ทุกคนเท่ากัน” ครับ

 

ภาพ อาคารที่จอดรถ ซาบะนั่งอยู่ด้านล่าง ดูบันได 6 ขั้นก่อนถึงหน้าลิฟท์
อาคารจอดรถหนึ่งจุด มีบันไดก่อนเป็นลิฟท์ เห็นแล้วตกใจครับ

 

 

ภาพ ศาลาพระเกี้ยว คณะสำรวจกำลังยกมือไหว้ ท่านรอง
ศาลาพระเกี้ยว พื้นที่กิจกรรมของนิสิต ถือว่าทำได้ดีเลยครับ มีทางลาดให้แจ๋วมาก, พอดีรองคณะบดีคณะรัฐศาตร์เดินผ่านมา ได้ทักทายกันนิดหน่อย ท่านรองฯ มาเดินๆ ดูบางจุดที่เราสำรวจด้วยครับ

 

ภาพ ซาบะและน้องๆ เดินบนถนน
ทางเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยไปห้าง เมื่อทางเท้ามีสภาพไม่เอื้อ 1) ทางเท้าไม่มีทางลาด 2) กลุ่มคนที่ไม่เคารพกฏจราจร 3) สิ่งกีดขวางบนทางเท้า ทำให้กลุ่มคนที่ใช้รถเข็นจำเป็นต้องลงไปใช้ถนนสัญจร ซึ่ง “อันตรายมาก”

 

 

About saba

เราจะเป็น #หนึ่งพลัง ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม We will be THE ONE who change our country[มานิตย์ ซาบะ อินทร์พิมพ์][Manit Saba Intharapim][マニト・サバ・インサラピム]