สวนหลวง 100 | King Rama IX Park 100 (บันทึกการซ้อมวิ่ง 100K ครั้งแรก – 13 กุมภาพันธ์ 2564)

เป็นการซ้อมวิ่งแตะเต็มระยะ 100K ครั้งแรกตั้งแต่วิ่งมา ถ้าเวลาได้อย่างน้อยวัน long-run ผมมักซ้อมให้เคียงหรือเต็มระยะมากที่สุด ไต่มาเรื่อยๆ ครับ 11K, 22K, 33K, 44K, และล่าสุด long-run หนที่แล้ววิ่งไป 66K, ตั้งใจ วางแผน จนถึงวันที่ร่างกายบอก ‘พร้อม’ ครับ

สวนหลวง ร 9 เป็นสนาม เป็นครู ที่ผมใช้ซ้อมมากที่สุด เหมาะกับการซ้อมวิ่งยาวๆ เรียบๆ ไม่มีเนิน (ซึ่งเป็นข้อดี-ง่ายหน่อย แต่ก็เป็นข้อเสีย ที่เราต้องไปชดเชยด้วยการซ้อมเนินเพิ่ม) กับข้อมูลการวิ่ง 4 ปี ลงสนามมาราธอนเพียงแค่ 3 สนาม สะสมระยะทางวิ่งรวมเพียงแค่ 5พันกว่ากิโลเมตรเท่านั้นเองครับ

ก่อนวันวิ่งเตรียมเสบียงพร้อม อาหาร การกิน การเตรียมตัวอยู่ในระดับที่พอใจ การวิ่งครั้งนี้ต้องการเรียนรู้หลายๆ อย่าง:

1. ทดสอบสู้กับแดด
มีเพียงแว่นกันแดดที่ช่วยให้เราโดนหลอกว่าไม่มีแดด ชุดวิ่งก็เดิมๆ ตามที่เห็นครับ, พยากรณ์อากาศล่วงหน้าหนึ่งวัน บอก ‘มีเมฆ’ ถึงวันวิ่ง ก็เป็นไปตามนั้น มีเมฆช่วยบังแดดให้เป็นระยะๆ โอ้ดีจัง แต่ก็ยังร้อนตับแตก ช่วงเที่ยง 36c กันเลย หลังวิ่ง: ดำ+20% ครับ >>ครั้งหน้าต้องมีชุดกันแดดแล้วครับ

2. ทดสอบการเติมอาหาร น้ำ พลังงาน
ช่วงเช้า ผมเติมอาหารน้อยไปหน่อย ผ่านระยะมาราธอนแรก เที่ยงกว่าๆ หนีไปทานอาหารที่ห้างพาราไดซ์พาร์ค กลับมาวิ่งต่อ รู้สึกได้เลยว่ามาราธอนที่ 2 ช่วงบ่ายวิ่งแบบแรงหมด พยายามหาอะไรต่อมิอะไรมาแก้ แวะเข้าไปซื้ออกไก่+ผลไม้ปั่นที่ห้าง ค่อยๆ เติม น้ำบ้าง เกลือแร่บ้าง กล้วย ผลไม้ไปเรื่อยๆ จนข้าวที่กินช่วงเที่ยงค่อยๆ กลายเป็นพลังงานให้เราได้วิ่งต่อ

3. แผนการวิ่ง
วางแผนวิ่ง เริ่มไปเรื่อยๆ ช้าๆ เพราะระยะยาวมาก ต้องแบ่งกำลังให้จบให้ได้ แต่หากดู laps จะเห็นว่า ผมเริ่มที่ความเร็วเหมือนซ้อมระยะมาราธอน เพลินนะสิครับ ฮ่าๆ ผลก็คือ ‘พัง’ สิครับ แต่ในความพังนี้ ทำให้เราได้วัดกำลังตัวตัวเอง ได้เห็นตัวเองว่า ‘หมดแรง’ เป็นยังไง พลังงานที่เติมไม่ทันมาอีกทีเมื่อไหร่ เป็นบทเรียนที่หนักและต้องเรียนรู้ ต้องได้เจอด้วยตัวเองครับ

4. เวลา
บันทึกเฉพาะเวลาวิ่งนะครับ ไม่รวม เข้าห้องน้ำ ทานเที่ยง โน่น นี่นั่น, เริ่มวิ่ง 7:20am ได้ 70K ทุ่มครึ่ง-สวนปิด + 30K วิ่งต่อถนนหน้าสวน (ไปกลับ 1+1 กิโลเมตร) > จบที่ 4ทุ่มกว่าๆ ครับ, ครั้งนี้ตั้งใจเริ่มสายหน่อย เพราะอยากนอนให้เยอะที่สุด >>ครั้งหน้าจะรีบนอนตุนและนอนเร็ว เริ่มให้เช้ากว่านี้ครับ

5. ต้องการทดสอบนาฬิกาใหม่ (ยอมซื้อใหม่เพื่อ 100K)
เพราะตัวเก่าแบตไม่พอครับ เลยต้องจัด Garmin Fenix 6X Solar, วิ่ง 100K เปิดให้มือถือรายงานจำนวนกิโลเมตร, อัตราการเต้นหัวใจ, ความเร็วเฉลี่ย ทุกๆ กิโลเมตร ผลคือ “แจ๋วมาก” ครับ แบตฯ เหลือ 74%

6. อาการหลังวิ่ง
เหนื่อย หนักแน่ๆ อยู่แล้ว ผมถือว่าอาการดีมากครับ แต่ก็ไม่ต่างกับการ ‘ปีนระยะ’ ในทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เชื่อว่าเพราะผลบุญที่สะสมจากการซ้อมมาเรื่อยๆ
ส่วนตัวผมชอบนะครับ ‘อาการทรมาณบันเทิง’ กว่าจะได้นอนก็ตี 3 มังครับ คลานขึ้นเตียง หลับแบบร่วงผล็อยไปเลย 555, ตื่นสายๆ พักไป 1 วัน วันต่อมาก็เริ่มวิ่งสบายๆ ได้แล้วครับ

ระยะ 100K ทำให้เรานิ่ง ทำให้เราเข้าถึงธรรมชาติ เข้าถึงตัวเอง และต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ข้อมูลที่ได้เอามาวิเคราะห์เป็นประโยชน์มากสำหรับการวิ่งครั้งต่อไป มันส์ครับ

ภาพ สรุปข้อมูลการซ้อมวิ่ง 100K

ภาพ บันทึกการวิ่งทุก 1 กิโลเมตร (ครึ่งแรก 50K)

 

ภาพ บันทึกการวิ่งทุก 1 กิโลเมตร (ครึ่งหลัง)

ภาพ สรุปโซนหัวใจ

 

ภาพ สรุปอุณหภูมิ ความร้อน

ภาพ นาฬิกาบอก 'Longest Run 100' ตอนวิ่งจบ

 

About saba

เราจะเป็น #หนึ่งพลัง ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม We will be THE ONE who change our country[มานิตย์ ซาบะ อินทร์พิมพ์][Manit Saba Intharapim][マニト・サバ・インサラピム]