รีวิว ทางลาดหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

ภาพ ปก ทางเข้าด้านหน้า

เมื่อวาน น้องภาคีเครือข่าย ส่งภาพนี้มาให้ พร้อมกับบอกว่า “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติได้ทำทางลาด ตอนนี้รถเข็นไปเที่ยวได้แล้วนะ” เดาใจว่าน้องคงส่งข่าวให้ด้วยความดีใจ

ดีใจ ผมก็ดีใจมากและขอบคุณที่ทำให้กลุ่มคนที่ใช้รถเข็นเข้าไปเที่ยวได้สะดวกเหมือนคนอื่นเขาบ้าง

แต่… ผมขอยกมารีวิวในสิ่งที่เห็นและต้องการที่จะให้ข้อมูล เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกว่าและพัฒนาให้ดีกว่าเดิมครับ!

ผมตีเส้นสีแดงและเส้นสีฟ้าให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น:
1. พื้นต่างระดับ ความสูงเพียงแค่บันใด 3 ขั้น
2. การสร้างทางลาดด้านข้างแบบนี้ คือ แนวคิดเก่าที่คิดว่า “สร้างให้คนพิการ”, “สร้างให้มีตามกฏหมาย” แต่ไม่ได้คำนึงถึงความเท่าเทียม(Equality) ไม่ได้คำนึงถึงการอยู่ร่วมกัน(Inclusive), และคำนึงถึงศักดิศรีและความเป็นมนุษย์น้อยไปซักนิด

ให้ลองคิด…
(A) คนพิการและกลุ่มคนที่ใช้ล้อ♿️ ต้องเข็นรถแยกมาด้านข้างอาคารแล้วเข็นอ้อมไปทางเข้า
ส่วน (B) คนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง🚹🚺 เดินขึ้นตรงๆ สามก้าว ก็เข้าอาคารได้แล้ว

รู้มั้ยครับ สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีแล้ว ไม่ผิดกฏหมายด้วย ทุกที่เป็นแบบนี้ทั้งนั้น ผมเรียก “การออกแบบด้วยแนวคิดเก่าๆ” ❎

ให้ลองตอบคำถามนี้…
– ทำไมผมซึ่งเคลื่อนไหวโดยใช้รถเข็น มีร่างกายที่ลำบากกว่า ต้องเข็นระยะทางไกลกว่าและยังต้องถูกออกแบบโดยการ “ถีบ” ผมออกไปขอบอาคาร?
– แล้วทำไมคนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เดินขึ้นบันไดเพียง 3 ขั้นอย่างสง่างาม ที่ทางเข้าหลักตรงๆ ไม่มีระยะทางเพิ่ม?
– การสร้างทางลาด คุณมีความกรุณา เอื้อเฟื้อให้ผม จริงๆ ใช่ไหม?
– พื้นต่างระดับเท่านี้ สร้างเป็นทางลาดยาวๆ ตลอดทั้งหน้าทำได้ใช่ไหม?

คุณจะเข้าใจมันได้ก็ต่อเมื่อคุณต้องพิการและนั่งอยู่รถเข็นแบบผม และรับความรู้สึกกับสิ่งต่างๆ ที่ผจญมาหลายสิบปี ถึงจะเข้าใจในความรู้สึกนี้

สภาพแวดล้อมแบบนี้แหละที่มันเป็นคุกที่ขังและบังคับให้คนพิการเป็นคนพิการตลอดไป ทำให้ตัวคนพิการเองก็คิดว่าตัวเองเป็นคนพิการอยู่ร่ำไป…

ชักชวนเพื่อน พี่ น้อง นักออกแบบทุกท่านมาคุยกัน มาทำงานร่วมกัน ผมพร้อมที่จะส่งต่อ ช่วยให้ความรู้เหล่านี้ ร่วมสร้างคนออกแบบรุ่นใหม่และออกแบบด้วยแนวคิด “โลกใบใหม่” กันครับ‼

ภาพ ทางเข้าด้านหน้า ทางลาดด้านข้างอาคาร

About saba

เราจะเป็น #หนึ่งพลัง ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม We will be THE ONE who change our country[มานิตย์ ซาบะ อินทร์พิมพ์][Manit Saba Intharapim][マニト・サバ・インサラピム]