รถไฟทางคู่ สร้างระดับชานชาลาสถานี ไม่พอดีกับพื้นรถมีผลอย่างไรกับผู้โดยสาร?

ภาพ เปรียบเทียบชานชาลาต่ำและสูง1
พวกเราคงได้ข่าว การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท) กำลังสร้าง ‘บางสถานี’ ให้ระดับพื้นชานชาลาต่ำกว่าปกติมาพักใหญ่แล้ว
ระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนต้องเดินทางได้อย่างเท่าเทียม เป็นหนึ่งประเด็นหลักที่เราติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

‘เดินทางได้ ชีวิตพัฒนาได้’ คือ คำที่ผมใช้พูดเสมอๆ

จะสูงจะต่ำ ผมเฉยๆ ว่ากันตามความจำเป็นทางเทคนิค แต่ผมมีข้อแม้อย่างเดียว คือ ขอให้ ‘ทุกคนสามารถใช้ได้’ โดยสะดวกและปลอดภัย และไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมที่ไม่จำเป็น ลดความซับซ้อน ความยุ่งยากในการใช้บริการก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

ชานชาลาสูงหรือต่ำ คนที่ไม่ได้ติดตาม อาจจะนึกไม่ออก ผมเลยลองทำกร๊าฟฟิคให้ดูง่ายๆ มาให้ดูกัน พร้อมข้อมูลสนับสนุนตามนี้ครับ:

หากพื้นชานชาลาพอดีกับพื้นรถ ให้นึกถึงรถไฟฟ้าที่วิ่งทั่ว กทม นั่นไง ใช่เลย, ‘ทุกคน’ ก็จะเข้า/ออกตัวรถได้อย่างง่ายๆ

หากพื้นชานชาลาไม่พอดีกับพื้นรถ ให้นึกถึง รถไฟที่หัวลำโพง ที่ผู้โดยสารต้องห้อยโหน ปีนขึ้นบันได 3 ขั้นเพื่อเข้า/ออกตัวรถ เรียกได้ว่า ‘ทุกคน’ ก็จะมีปัญหาในการเข้า/ออกตัวรถ มากน้อยต่างๆ กัน เอาล่ะ กลุ่มผู้โดยสาร มีใครบ้าง ความสะดวกมากน้อยเป็นยังไงบ้าง?

1. คนแข็งแรง สบายหน่อย ลำบากน้อยที่สุด

2.ส่วนกลุ่มคนที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว, ผู้สูงอายุ, คนเจ็บป่วย, คนท้อง, ครอบครัว+เด็กเล็ก, นักท่องเที่ยว+สัมภาระ ต่างมีปัญหา หนักเบา มากน้อยต่างกันไป คนพิการทางการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะคนที่ใช้รถเข็นเรียกได้ว่า ‘ใช้ไม่ได้’ กันเลยทีเดียว

เผื่อใครไม่ทราบ รฟท ได้จัดทำตู้รถพิเศษ ที่มีระบบไฮโดรลิค ยกผู้พิการรถเข็นขึ้น/ลง รู้สึกขอบคุณมากๆ อย่างน้อยก็เดินทางได้ ดีกว่าไม่มี แต่มันยุ่งยาก วุ่นวาย ไม่สะดวก เดินทางได้เพียงบางจังหวัด ต้องจองล่วงหน้า สารภาพหลังจากที่ผมไปทดสอบตอนแรกก็ไม่เคยไปใช้บริการเลย เพราะความยุ่งยากทั้งระบบและการให้บริการที่เพิ่มเติมที่ไม่จำเป็น

ผมยังได้รับข้อมูลเรื่องการสร้างรถไฟทางคู่ จากข่าวที่ยังต้องติดตามและค้นหาข้อเทจจริง เช่น
1. ส่วนที่สร้างเสร็จแล้ว ภาคอื่นๆ เป็นชานชาลาระดับสูงหมด
2. มีเพียง ‘สายใต้’ และจะมีเพียงบางสถานี (สถานีย่อย) เท่านั้นที่จะสร้างชานชาลาต่ำ
3. ชานชาลาต่ำ จะยกสูงภายหลัง
4. โครงการทั้งหมด ออกแบบและได้งบประมาณมาเป็นแบบชานสูง

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้แค่อ่านก็รู้สึกแปลกๆ ครับ
รถไฟไทยเปิดให้บริการมาร้อยกว่าปี ถึงวันนี้ประชาชนทุกคนอยากเห็น รฟท พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ผมพูดเสมอๆ ว่า วันนี้คุณมีร่างกายแข็งแรง พรุ่งนี้ไม่แน่ ชีวิตไม่แน่นอน สภาพร่างกายทุกคนเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ใครซักคนรอบๆ ตัวหรือแม้แต่ตัวคุณจะได้เป็นกลุ่มคนกลุ่มที่#2 แน่ๆ ไม่ช้าไม่นาน ซักวันแน่ๆ ครับ

เรามีรัฐธรรมนูญ เรามีกฏกระทรวงชัดเจนที่สุดแล้ว สิทธิและการเดินทาง ทุกคนต้องเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกันครับ

ภาพ เปรียบเทียบชานชาลาต่ำและสูง2

About saba

เราจะเป็น #หนึ่งพลัง ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม We will be THE ONE who change our country[มานิตย์ ซาบะ อินทร์พิมพ์][Manit Saba Intharapim][マニト・サバ・インサラピム]