ไม่นานมานี้ น้องนิสิตมหาวิทยาลัยจุฬาฯ ติดต่อมาขอสัมภาษย์เกี่ยวกับการเข้าถึงสถานศึกษา
“ประโยชน์กับน้องๆ มากที่สุด เราไปเดินเล่นที่มหาวิทยาลัยน้องกันดีมั้ยครับ?” เป็นคำที่ผมชักชวนน้อง เพราะไปลงพื้นที่จริง สนุกกว่านั่งคุยกันผ่านระบบออนไลน์เยอะเลย!
“ชวนเพื่อน ชวนอาจารย์มาด้วยเลยยิ่งดีครับ” ชวนน้องไม่พอ แหม พี่ซาบะแถมยังขอให้ชวนเพื่อนๆ มาเพิ่มอีก, เจอพี่ซาบะทั้งทีมันต้องสนุกแน่นอนสิ^^
ในที่สุดก็กลายเป็น โครงการเดินสำรวจมหาวิทยาลัยจุฬา (Chula Walk) ในวันที่ 2 กุมภาพันธุ์ที่ผ่านมาครับ
การลงพื้นที่ โจทย์ของผมคือ ให้น้องๆ เจ้าถิ่นเป็นไกด์ทัวร์ โดยได้ขอให้น้องๆ พาเดินทางแบบปกติที่ทุกคนทำกันทุกวัน
ให้สังเกตุตัวหนังสือสีแดงหรือเกือบแดงคือประเด็นที่มีปัญหา ส่วนสีน้ำเงินคือประเด็นที่ถือว่าผ่านครับ
ข้อมูลสรุปแยกตามกลุ่มจุดสำรวจ ตามนี้ครับ:
จุดที่ 1 การเดินทางไปมหาวิทยาลัยจุฬาฯ / ขึ้นรถป๊อบที่หน้าโรงหนังลิโด้
จากจุดนัดพบ Skywalk BTS สถานีสนามกีฬา > ลงแนวถนนฝั่งสยาม [ไม่มีลิฟท์], ทำให้ต้องไล่เดินไปตามๆ ห้างฝั่งตรงข้ามเพื่อลงพื้นดิน ก็เดินหาลิฟท์หาทางไปเหมือนหนูที่ไม่รู้ทาง พยายามหารูไปให้ได้นั่นแหละ เข้าสยามดิส เจอปัญหา [ลิฟท์ลงพื้นถนนปิด] เพราะกำลังมีการสร้างทางเท้า, ก็ต้องเดินวนกันไปมา > ทะลุไปสยามเซนเตอร์ ยังดีที่เจอ [ทางลาด ที่มีความชันมากพอดู] > ลงทางเท้า โชคดีบ้างที่คนสร้างทางเท้าวางกระเบื้องทางเดินให้คนพอสัญจรได้ มี “ความกว้าง พอไปได้” กับรถเข็นที่ผมใช้ แต่ก็ต้องเสี่ยงกันหน่อย > พาน้องๆ เดินทวนกลับไปสี่แยกปทุมวัน ถึงขอบอาคารด้านข้างสยามดิสจุดที่รถขับออกถนนพญาไท > ถึงจุดนี้เราต้องพูดคุยกัน มีทางเลือก:
1.1) ข้ามไปฝั่งสยามสแควร์โดยข้ามถนนตรงสี่แยก(ใต้ Skywalk) แบบไม่มีระบบช่วยเหลือใดๆ หรือ
1.2) เดินย้อนไปอาศัย BTS สยาม (สถานีติดกัน) เพื่อใช้ลิฟท์ลงฝั่งตรงข้าม
…น้องๆ มองกันไปมา…
“ป๊ะ! ไปแบบที่พี่ซาบะไปทุกๆ ครั้งก็แล้วกันครับ” ผมตัดสินใจให้และชวนลุย คำว่าปกติของผมคือ [“ต้องทำตัวเป็นรถ” เข็นรถ(และเดิน)บนถนน และยังต้องสวนเลนรถที่วิ่งมาและเดินตัดสี่แยกข้ามกันหน้าตาเฉย] ล่ะครับ คนที่ใช้รถเข็นทำแบบนี้ตลอดเวลาเพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ, ผมนำ คอยบอกน้องๆ ด้วยความเป็นห่วง “ระวังรถมากๆ นะครับ” > พอข้ามไปฝั่งสยามได้ ก็เดินตามทางเท้าไปโรงหนังลิโด้ สบายหน่อยทางเท้าฝั่งนี้ทำใหม่ เปิดให้ใช้แล้ว > พอไปถึงพบว่า [“รถป๊อบ” เป็นรถแบบเก่า รถเข็นใช้ไม่ได้ ทางขึ้นบันได] เป็นรถบัสแบบเก่าเหมือนรถเมล์ส่วนใหญ่ที่วิ่งใน กทม นี่แหละ…
ผมเขียนละเอียดหน่อย เพราะอยากให้เห็นว่ามันมีเรื่องไม่ปกติเต็มไปหมด, แค่จะมาขึ้นรถเข้ามหาวิทยาลัยก็สนุกแล้วครับ^^
จุดนี้ผมสรุปให้คะแนน: สีแดง เพราะการเดินทางที่ยังอันตรายมาก + รถป๊อบใช้ไม่ได้ทุกคน
จุดที่ 2 เดินไปมหาวิทยาลัยโดยใช้ทางเท้า
ทางเลือกแรก รถรับส่งใช้ไม่ได้ไม่เป็นไร เราก็เดินกัน ระยะทางจากหน้าห้างมาบุญครองถึงประตูจุฬา เกือบๆ 700เมตร ถ้าสภาพแวดล้อมทางเท้าเอื้อเดินกันได้สบายมาก
น้องๆ เจ้าถิ่นพาเดินตามเส้นทางเดินพื้นที่สยามลัดทะลุไปห้างสยามสเคป > แล้วก็เดินตาม ถนนพญาไท ทางเท้าถือว่ามีสภาพ “พอไหว” คนใช้รถเข็นที่แข็งแรงไปได้สบาย, แต่คนที่ไม่แข็งแรงก็ต้องให้ความช่วยเหลือบางจุด, ส่วนคนตาบอด ไม่มีกระเบื้องนำทางให้ครับ > แล้วก็ถึงประตูทางเข้าจุดคณะสถาปัตยโดยสวัสดิภาพ^^
จุดนี้ผมสรุปให้คะแนน: สีแดง รถเข็นพอไปไหวแต่คนที่ไม่แข็งแรงจะต้องถูกช่วยเหลือ คนตาบอดไปไม่ได้ (ซึ่งไม่ควรเกิดความช่วยเหลือ)
จุดที่ 3 พื้นที่สาธารณะภายในรั้วมหาวิทยาลัย / ทางเท้า ถนนหนทาง ทางม้าลาย
เราไม่ได้เดินกันทุกจุดนะครับ สรุปผมชอบต้นไม้ใหญ่ ชอบความร่มรื่น, “ผมเลือกมาเรียนที่นี่ก็เพราะแบบนี้แหละครับ” หนึ่งในน้องนักศึกษาจุฬาฯ เล่าถึงความร่มรื่น แน่นอนบ้านเราเมืองร้อนต้นไม้ให้ร่มเงาจำเป็นมากๆ ครับ
เอาล่ะในภาพรวมคือ สภาพทางเท้าเสียหายเพราะเก่าแล้ว, ได้ไปนั่งดูทางข้ามแบบ 3D ด้วย [ไม่เห็นรถชลอซักคัน]^^, สภาพทางเท้า-ทางเดินส่วนใหญ่ที่เห็นมีความกว้างที่ดี, การเชื่อมต่อกันของทางเท้าแต่ละส่วนมีปัญหาบางจุด, ป้ายและสัญลักษณ์ต่างๆ มีน้อย, แต่ภาพรวม [ทางเท้า ทางเดินมีพื้นฐาน มีศักยภาพที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ไม่ยาก] ครับ
จุดนี้ผมสรุปให้คะแนน: สีแดง การเดินเท้ายังไม่ปลอดภัยเพียงพอ, ยังไม่เอื้อกับคนตาบอด
จุดที่ 4 อาคารสถานที่ต่างๆ
เราแวะดูคณะสถาปัตย+ห้องสมุด > คณะอักษรฯ + โรงอาหาร > คณะรัฐศาสตร์+ศาลาพระเกี้ยว + อาคารจอดรถ
ในภาพรวม [อาคารเก่ามีปัญหาแน่ๆ อยู่แล้วครับ], [ห้องน้ำคนพิการไม่มี], [ทางลาดทั้งด้านนอกและในอาคาร จากที่ตรวจสอบบางจุด-ชันเกินไป ไม่ได้มาตรฐาน], [อาคารจอดรถ 1 จุด หน้าลิฟท์เป็นบันได] ส่วนจุดที่สร้างใหม่เริ่มดีขึ้นพอควร, บนพื้นที่รวมคณะเช่น จุดขายอาหาร การเลือกแบบโต๊ะนั่ง-ปรับนิดหน่อยก็ดีแล้ว, [ระดับพื้นการเชื่อมต่อระหว่างอาคารและทางเดิน มีปัญหาบ้าง] แต่ปรับได้ไม่หนักหนาครับ
ที่คณะรัฐศาสตร์ขณะที่เรากำลังดูศาลาพระเกี้ยว ท่านรองคณะบดีคณะรัฐศาตร์ (รศ.ดร.จักริช สังขมณี) เดินผ่านมาพอดี เลยได้ทักทาย พูดคุยกันนิดหน่อย ท่านรองฯ บอกเห็นงานการเคลื่อนไหวเราอยู่แล้ว ท่านยินดีรับคำแนะนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงในส่วนที่เราให้ความคิดเห็นไว้ น่ารักมากๆ ครับ
จุดนี้ผมสรุปให้คะแนน: สีแดง เพราะทุกอาคารที่สำรวจยังไม่เอื้อกับทุกคนครับ
จุดที่ 5 เข้าถึงห้างรอบๆ มหาวิทยาลัย
พวกเราแวะห้างตามรายทางผ่าน ตามนี้ครับ สยามดิส, สยามเซนเตอร์, สยามสเคป, จามจุรีสแควร์ และสยามย่านมิตรทาวน์
[“เส้นทางเดินและการเชื่อมต่อ” ยังไม่ปลอดภัยและต้องเสี่ยง สำหรับบางคนอาจจะเดินทางไม่ได้ คนตาบอดเลิกคุยกันเลย น่าเป็นห่วง ควรทำดีกว่านี้ครับ]
กลุ่มลูกค้าหลักของห้างคือกลุ่มคนจากมหาวิทยาลัย สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับทุกคน ล้วนส่งผลถึงธุรกิจของภาคเอกชนและพื้นที่เมือง คนทุกคนได้รับประโยชน์เพิ่มแน่ๆ อยู่แล้ว แปลกใจที่กลุ่มคนที่ทำงานด้านยุทธศาสตร์ของห้าง มองข้ามเรื่องนี้ไปได้ยังไงกัน น่าคิด, ส่วนอื่นๆ ของห้างเดี๋ยวยกไปอีกโพสครับ
จุดนี้ผมสรุปให้คะแนน: สีแดง การเชื่อมต่อยังไม่มี ทุกคนยังเดินทางด้วยตนเองไม่ได้ ครับ
ส่งท้าย
“ทุกคนต้องออกจากบ้านได้ > เดินทางได้ > ไปโรงเรียนได้ > ไปโรงพยาบาลได้ > ไปทำงานได้ และต้องไปช๊อปปิ้งได้” เป็นคำที่ผมต้องพูดบ่อยๆ ซึ่งอธิบายได้ทุกอย่าง
สิ่งที่น้องๆ คณะร่วมสำรวจสัมผัสได้ตรงกันคือ “สิ่งทุกคนทำเป็นปกติ แต่พอมากับพี่ซาบะวันนี้ ไม่ปกติ-วุ่นวายมาก”
รัฐธรรมนูญของไทยเขียนไว้ว่า “สิทธิทุกคนเท่ากัน”, และเมื่อ 17 ปีที่แล้วกระทรวงมหาดไทยออกกฏกระทรวงว่าด้วยการกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานฉบับแรก และได้แจงรายละเอียดการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานขั้นต่ำที่จำเป็นไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ทุกๆ ที่ในประเทศไทยยังมีปัญหาการเข้าถึงได้ยากลำบากมาก
สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ต้อง “เข้าถึงและใช้ประโยชน์ในสิ่งอันเป็นสาธารณะได้” เท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธาณะ, อาคาร สถานที่ หรือสถานศึกษาไม่มีข้อยกเว้นครับ
ก่อนออกเดินสำรวจ ผมสอบถามน้องๆ ว่า มีเพื่อน ได้รู้จักนักศึกษาพิการบ้างมั้ย?
คำตอบคือ “แทบไม่เคยเห็นเลย นานๆ ที” ซึ่งเป็นคำตอบที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี และหากค้นดูสถิติการศึกษาของคนพิการในประเทศไทยก็จะยืนยันได้อีกแรงครับ
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องของคนพิการ, ทุกคนรู้ดีว่าสภาพร่างกายคนเปลี่ยนแปลงได้เสมอ, สิ่งเหล่านี้จะเป็นหลักประกันให้กับทุกคนในวันพรุ่งนี้ เมื่อร่างกายเราเปลี่ยนไปครับ
ทีมจุฬา & ทีมภาคีเยาวชนเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และ Accessibility Is Freedom เราเดินกันตั้งแต่หลังเที่ยง-ยันเย็น สนุกมาก
ข้อมูลจะเป็นเพียงสรุปเบื้องต้น เราจะทำงานร่วมกันต่อเนื่องอย่างแน่นอน
ติดตาม hashtag #จุฬามหาวิทยาลัยเพื่อทุกคน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยังยืนครับ
สมาชิก Chula Walk/0
– ณัฏฐณิชา ภู่คล้าย + ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ + สิรภพ อัตโตหิ / คณะอักษรศาสตร์ / จุฬา
– เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิต / คณะรัฐศาสตร์ / จุฬาฯ และน้องๆ นิสิตอีกหลายท่านมาร่วมเดินด้วย
– น้องออม + น้องเทม + น้องอ๋อง / ภาคีเยาวชนเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน แก๊งค์นี้ช่วยถ่ายภาพให้-เยี่ยมมาก
– พี่ซาบะ / Accessibility Is Freedom
ข้อมูลอ้างอิง:
– กฏหมายไทย: https://www.accessibilityisfreedom.org/กฏหมายไทย/
– มาตรฐานทางข้ามขั้นต่ำ https://www.accessibilityisfreedom.org/ทางข้ามยกพื้นใหม่/



(1) ทางม้าลาย 3D นั่งดูหลายเที่ยว ไม่เห็นทำให้รถชลอเลย
(2) ไม่มีทางลาด
(3) ไม่มีลูกระนาดเตือนก่อนถึงจุดข้าม
(4) ป้ายเตือน ไม่มีก่อนถึงจุดข้าม
(5) และทางเท้าไม่มีกระเบื้องนำทางให้กับกลุ่มคนที่มีปัญหาทางสายตา
แนะนำให้ทำทางข้ามแบบนี้ ข้อกำหนดขั้นต่ำดูได้ที่นี่ครับ https://www.accessibilityisfreedom.org/ทางข้ามยกพื้นใหม่/
(1) ด้านหน้าเป็นบันได ต้องเข้าด้านข้าง
จุฬาฯ สภาพแวดล้อมร่มรื่น เอื้อให้เกิดการเดินดีมากๆ ครับ
(1) ทางลาด อันตรายมาก

(1) ชันกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ (1:12)




