ประเมินประเด็นที่น่าเป็นห่วง (ห้องน้ำโรงแรมห้าดาว ย่านหลังสวน)

หลังจากโพสแรกที่เราขอความเห็นพวกเราไป เป็นที่น่าดีใจมากๆ ครับ พวกเราช่วยกัน comment กันบานเบอะเบอะเลย
และที่ดีใจมากๆ ก็คือ มีกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงการออกแบบ ส่งข้อความเข้ามาคุย แลกเปลี่ยนกับเราครับ

ผมจะยกประเด็นมาให้เห็นว่า จากภาพถ่ายภาพเดียว ในภาพที่คนทั่วไปมอง ‘เอ้อ ก็ดีแล้วนะ มีห้องน้ำให้ แถมยังสวยงามอีกด้วย’
แต่ในสายของคนที่ทำงานในเรื่องนี้อย่างเข้มๆ แล้ว ผมมองภาพต่างออกไป ทั้งนี้บอกก่อนว่า ผมใช้ถือข้อมูลจากกฏกระทรวงที่เป็น ‘ขั้นต่ำ’ ผสมกับประสบการณ์การใช้งาน ดูงาน และเห็นปัญหามามาก มาตรฐานห้องน้ำพิเศษในประเทศไทย มีดีๆ ที่พอรับได้อยู่ไม่กี่ที่ ส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ครับ

[รายการที่ผ่าน] เอาเรื่องที่ผ่านก่อน จากที่เห็น มีเรื่องเดียว คือ ความกว้างของห้องน้ำครับ กฏกระทรวงกำหนดไว้ว่า ‘จุดกลาง (สีฟ้า) ต้องมีระยะ 1.5 เมตร’ นั่นก็คือรถเข็นสามารถหมุนตัวไปมาได้ครับ

 

ส่วนจุดที่น่ากังวล ต้องปรับปรุง มาดูรายละเอียดกันครับ…

[รายการที่กังวลและประเมินต้องแก้ไข]

1. ปุ่มกดชำระ
ร้อยทั้งร้อย เป็นแบบนี้ ผมเชื่อว่า ‘คนออกแบบ’ เองก็เคยนั่งทำธุระหนักแล้วระหว่างทางก็อยากจะกดทิ้ง ในขณะที่ปุ่มกดอยู่ข้างหลัง ให้นึกสภาพว่าคนที่มีร่างกายแข็งแรงก็มีปัญหาในระดับหนึ่งแล้วคนพิการ ที่อาจจะแทบเคลื่อไหน เอี้ยวตัวไม่ได้เลย เท่านี้ผมคงไม่ต้องพูดอะไรแล้ว

แนะนำ>> ปุ่มกด ต้องเป็นแบบห้องน้ำญี่ปุ่นครับ อยู่ด้านข้างซ้ายขวา

2. ราวจับ
จุดนี้ต้องเป็นแบบพับเก็บแนงดิ่งได้ พอพับไม่ได้ก็กลายเป็นเครื่องกีดขวางอีกหนึ่งชิ้นเสียอย่างนั้น
ส่วนเรื่องความแข็งแรงและระยะห่างจากโถส้วม ตรงนี้กฏหมายมีกำหนดไว้ชัดเจน ประเมินจากสายตา ต้องแก้ไขครับ

3. ไม่มีสายฉีดชำระ
ต่างประเทศไม่มีการใช้งาน บางพื้นที่มี จากการพูดคุยกับผู้พิการทุกท่านยืนยัน ‘จำเป็นต้องใช้’ ครับ

4. ระยะห่างราวจับและโถส้วม
กฏหมายมีกำหนดชัดเจน ต้องวัดกัน จากภาพราวจับใกล้กับโถส้วมมาก คิดว่าคนนั่งน่าจะมีปัญหาครับ

5. ถังขยะ
ให้นึกถึงเรื่องสำคัญ “คนที่นั่งรถเข็น คือ คนที่ใช้ขาแทบไม่ได้” ตกลงถังขยะเปิดด้วยการเอาเท้าเหยียบ มีไว้เพื่อ???? เบื่อว่ะ ><

6. ระบบขอความช่วยเหลือ
ร้อยทั้งร้อยในประเทศไทย มีปัญหาทั้งตอนสร้างและตอนใช้งาน ภาพนี้สายห้อยลงมาในระดับที่พอไหว

หนึ่งในปัญหาใหญ่คือ จุดขอความช่วยเหลือในห้องน้ำ ‘ต้องมีหลายจุด’ ตรงนี้กฏหมายไม่ได้บอกไว้ แต่เราทำดีกว่ากฏหมายกำหนด ผลที่ได้ ‘จะมีแต่คนชื่นชม’ ครับ
ก็เพราะเจตนารมณ์มีไว้เพื่อให้ขอความช่วยเหลือ ให้นึกสภาพว่า คนที่จะขอความช่วยเหลือนั้น อาจจะล้มและสติอาจจะเหลือน้อยมากๆ แล้วต้องไคว่คว้าเรียกขอความช่วยเหลือ การมีหลายจุดนั่นหมายถึงการเพิ่มโอกาสให้คนมีชีวิตรอดได้มากขึ้น ย้ำบอกอีกทีว่า ‘ประเทศไทยร้อยทั้งร้อยมีจุดเดียว’
อันนี้ขอไทอิน โฆษณากันหน่อย ‘เมกาบางนา’ ผมไปช่วยเป็นที่ปรึกษา ให้ไปดูห้องน้ำโซนใหม่นะครับ ที่เดียวในประเทศไทยครับ

7. ราวจับ
เหมือนข้อ 2 ระยะห่างจากโถส้วม ไม่ได้ พื้นที่ครอบคลุม ไม่ได้ ลองนึกภาพคุณตา, คุณยายนั่งทำธุระอยู่แล้วจะเอื้อมมือเพื่อเหนี่ยวตัวยืนขึ้น
มันอยู่ในระยะที่ทำได้มั้ย โจทย์ข้อนี้ ให้คนออกแบบทดลองโดยให้ใช้โจทย์สมมุติว่า ‘ตัวเองเรี้ยวแรงยืนเองไม่ไหว’ ดูนะครับ

8. กระจกส่องหล่อ
ต้องติดตั้งให้เอียงครับ ภาพดูไม่ออกว่าเอียงไหม เลยแปะเป็นสีสงสัยคือสีเหลืองส้มไว้ก่อน มีกำหนดในกฏหมายชัดเจนครับ
‘ทำไมต้องเอียง?’ ก็เพราะความสูงคนนั่งรถเข็นเฉลี่ย 50% ของความสูงคนยืนไงครับ
ห้องน้ำทุกห้องที่ผมเข้าส่องกระจกดูความหล่อแล้ว ‘เห็นแค่หัว ตัวไม่เห็น เป็นกระสือทุกที’ มองดูตัวเองแล้วสมเพชจริงๆ น้อยที่ที่จะติดตั้งกระจกได้ถูกต้อง

9. ราวจับอีกแล้ว

10. ความสูงของอ่างล้างมือ
กฏหมายมีกำหนดตัวเลขครับ ในภาพไม่สามารถประเมินได้ ต้องไปวัด

11. อุปสรรคใต้อ่างล้างมือ
คอห่านด้านล่างอ่างล้างมือเลือกใช้แบบนี้ ‘อันตรายครับ’ วันดีคืนดีคนพิการใช้ไม่ระวัง หัวเข่าชนเปรี้ยง จากที่พิการแล้วกลายเป็นพิการซ้ำซากอีกซะอย่างนั้น
เฮ้อ ปวดหัวคนออกแบบจัง…

[บทสรุป]
จริงๆ ห้องน้ำทั่วโลกออกแบบต่างๆ กันครับ ผมยืนยัน พูดเสมอว่า การสร้างห้องน้ำมันแค่ top up ไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไรเลย
ลองนึกถึง คนที่ต้องเจาะหน้าท้องมีถุงถ่ายต้องเทของเสียทิ้งแล้ว จะให้เขาทำยังไง?
ให้ลองนึกถึงคุณแม่ที่พาคุณลูกไปเที่ยวแล้วต้องเข้าห้องน้ำ ต้องทำยังไง?

เอาตรงๆ ไม่ต้องคิดให้ปวดหัว เสียเวลาเปล่าๆ ‘ก๊อปปี้ห้องน้ำญี่ปุ่นมาทั้งดุ้น‘ จบครับ เหตุและผล คือ มันครอบคลุมกลุ่มคนที่เราต้องดูแลเป็นพิเศษมากที่สุดแล้ว
ส่วนใครที่ชอบพูดว่า ‘ประเทศนั้น ประเทศนี้ยังไม่ทำเลย’ ขอเอาไม้บรรทัดตีมือคนพูดแบบนี้หน่อย
หน้าที่เราคือสร้างมาตรฐานใหม่ที่ดีกว่า สร้างให้ดีกว่า สูงกว่าเขา ประเทศไทยทำได้ครับ!

โพสเดิมที่เราช่วยกันออกความเห็น ตามลิงค์นี้ครับ https://business.facebook.com/AccessibilityIsFreedom/photos/a.762392853783362/3335631846459437/

About saba

เราจะเป็น #หนึ่งพลัง ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม We will be THE ONE who change our country[มานิตย์ ซาบะ อินทร์พิมพ์][Manit Saba Intharapim][マニト・サバ・インサラピム]